6-8 พฤศจิกายน 2560
โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพฯ
การประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ เรื่อง การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ ครั้งที่ 4 วันที่ 6-8พฤศจิกายน 2560

การประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ

(4th Annual National Health Professional Education Reform Forum: ANHPERF)

“เทคโนโลยีสารสนเทศ เสริมพลัง สร้างวิชาชีพสุขภาพ

(ICT to empower health professional education)”

——————————————

 

หลักการและเหตุผล

เมื่อ 107 ปีก่อน (ค.ศ. 1910) มีการปฏิรูประบบการผลิตแพทย์ในสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดยผลจากรายงานของ Abraham Flexner ได้จุดประกายให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาด้านสุขภาพอย่างตื่นตัวผ่านระบบการเรียนรู้จากประสบการณ์ของอาจารย์ (Empirical based) สู่การบูรณาการการเรียนรู้ที่อยู่บนพื้นฐานองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Scientific based) ทำให้บริการทางการแพทย์และการผลิตแพทย์ วางอยู่บนพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้บริการสุขภาพมีคุณภาพดี และการพัฒนาสุขภาพของประชาชนโดยรวมดีขึ้นมาก

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาด้าน วิกฤตการขาดแคลนบุคลากรด้านสุขภาพ โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ ภัยที่เกิดจากสภาพแวดล้อมทั่วโลกและความเสี่ยงจากทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนผ่านด้านประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากการเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี มากยิ่งกว่านั้น คุณภาพและความเสมอภาคในการเข้าถึงการบริการสุขภาพ ถือเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทั้งระดับชาติและนานาชาติ

ธันวาคม พ.ศ. 2553 คณะกรรมาธิการได้เผยแพร่รายงานเรื่อง Education of health professionals for the 21st century: a global independent Commission ภายหลังจากที่รายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ ได้มีความเคลื่อนไหวในการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิรูประบบการศึกษาตามข้อเสนอในรายงานฯ

ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนให้มีมติคณะกรรมการระดับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA/RC65/R7) มติสมัชชาอนามัยโลก ครั้งที่ 66 (พ.ศ.2556) (WHA66.23) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิก ดำเนินการประเมินทบทวนสถานการณ์การจัดการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพ รวมทั้งการขับเคลื่อนเพื่อปฏิรูปการศึกษากำลังคนด้านสุขภาพ โดยการปรับปรุงและรับรองมาตรฐาน การศึกษาของบุคลากรด้านสุขภาพ และสร้างนวัตกรรมการจัดรูปแบบการศึกษา รวมทั้งกระบวนการศึกษาทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาบุคลากรด้านสุขภาพ

ในปี พ.ศ. 2554 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งมีแผนงานพัฒนา ระบบการสร้างเสริมสุขภาพผ่านระบบบริการสุขภาพ ได้สนับสนุนการดำเนิน “โครงการพัฒนาการศึกษา สำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่เหมาะสมในศตวรรษที่ 21” และในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2555 ที่ประชุมได้มีฉันทามติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 มติสมัชชาสุขภาพ 5. มติ 3 เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย” โดยข้อมติระบุว่า “ขอให้มีคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ แห่งชาติมีศาสตราจารย์

นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน ทำหน้าที่จัดทำ (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับกำลังคนด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2561)”

คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน ได้มีคำสั่งที่ 4/2556 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น มีนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธาน เพื่อพิจารณารับรองร่างยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพ ให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย ซึ่งสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นได้มีฉันทามติร่วมรับรอง “แผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 (พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2561) เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556       เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ฯ ตอนหนึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้ง “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลาการสุขภาพ (ศสช.)” เพื่อดำเนินการสนับสนุนงานด้านการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพทุกสาขาวิชาชีพ และได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน และคณะ กรรมการฯ เห็นสมควรให้มีการจัด “การประชุมวิชาการเพื่อการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคคลากรด้านสุขภาพ” ขึ้นอย่างเป็นประจำทุกปี โดยให้มีการประชุมวิชาการฯ ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2557

การประชุมวิชาการฯ จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจ ความมุ่งมั่น และโมเมนตัมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมพัฒนากลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ สนับสนุนการสร้างและจัดการความรู้ในเรื่องการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพและสร้างขีดความสามารถและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสาขาวิชาชีพและระหว่างสถาบันทั้งในระดับชาติและนานาชาติในการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ทั้งนี้ในการประชุมวิชาการฯ ครั้งแรกปี 2557 ผู้บริหารและผู้แทนจากต่างประเทศกว่า 500 คน ได้เห็นชอบให้มีหัวข้อหลักการประชุมวิชาการฯ สำหรับแต่ละปี ดังนี้ 2557 “ปฏิรูปสถาบัน สู่สังคมการ เรียนรู้ เพื่อสุขภาวะ” 2558 “ปฏิรูปการเรียนรู้ สู่สมรรถนะและหัวใจ” 2559“เรียนร่วมวิชาชีพ สู่ทีมสุขภาพไทย” 2560 “เทคโนโลยีสารสนเทศ เสริมสร้างวิชาชีพสุขภาพ” และ 2561 “การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชน”

จากการประชุมวิชาการฯ ได้จำแนกนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องออกเป็นประเด็นที่ครอบคลุมการปฏิรูปสถาบันการศึกษา และการเรียนการสอน ดังนี้ ด้านการปฏิรูปสถาบันการศึกษา ประกอบด้วย การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงด้านการปฏิรูปการศึกษาสำหรับสถาบันการศึกษา ตลอดจนรวมถึงความร่วมมือจากบุคลากรสุขภาพในระบบบริการสุขภาพ สถาบันการศึกษาและสภาวิชาชีพต่างๆ การพัฒนาอาจารย์ การบริหารจัดการสถาบัน และเครื่องมือ และการวัดผลที่ได้รับการยอมรับ ส่วนด้านปฏิรูปการเรียนการสอน ประกอบด้วย ศักยภาพของผู้เรียน กระบวนการเรียนรู้ และ การประเมินผลและสภาพแวดล้อม ทั้งนี้ การเสริมพลังบุคลากรสุขภาพผ่านการเปลี่ยนผ่านการศึกษาและการฝึกปฏิบัติในพื้นที่ ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สามารถสร้างเสริมระบบการบริการสุขภาพระดับชุมชนของประเทศไทยได้

ปัจจุบัน ความก้าวหน้า และก้าวไกลของเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาท และสร้างผลกระทบอย่างเป็นที่ประจักษ์ในวงการศึกษาอย่างกว้างขวาง คณะกรรมการจัดการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ จึงเห็นชอบร่วมกันมีให้มีการประชุมวิชาการระดับชาติประจำปี 2560 หัวข้อหลักคือ “เทคโนโลยีสารสนเทศ เสริมพลัง สร้างวิชาชีพสุขภาพ (ICT to empower health professional education)” โดยมีวัตถุประงสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการศึกษาเพื่อการสำรวจ การจัดทำ และนำเสนอข้อเสนอแนะ ตลอดจนประโยชน์ และผลกระทบของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพใน 2 ประเด็นหลัก คือ การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารสถาบัน และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการเรียนการสอน ในด้านต่างๆ ดังนี้

1) การใช้ ICT เพื่อบริหารสถานศึกษา มีขอบข่าย การดำเนินการศึกษา ใน 4 ด้าน ดังนี้

1.1 การผลิตบัณฑิต (การรับนิสิตนักศึกษา, การติดตามความก้าวหน้าของนิสิตนักศึกษา (ตามตัวชี้วัด, ผลสัมฤทธิ์สมรรถนะรวม และการติดตามบัณฑิต)

1.2 การวิจัย

1.3 การบริการวิชาการ

1.4 การบริหารสถาบัน (งานบริหารงานบุคคล, งบประมาณ, การประกันคุณภาพการศึกษา และการบริหารระบบกายภาพ)

2) การใช้ ICT เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนมีขอบข่าย การดำเนินการศึกษา ใน 7 ด้าน ดังนี้

2.1 การจัดการเรียนการสอน

2.2 การพัฒนาสื่อการสอน

2.3 การประเมินสัมฤทธิ์ผลของผู้เรียน (รายวิชา)

2.4 การพัฒนาผู้เรียน

2.5 การใช้ ICT เพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับโดยผู้เรียน

2.6 การวิจัยด้านการเรียนการสอนสำหรับผู้สอน

2.7 การพัฒนาและปรับใช้ ICT ในการเรียนการสอน

อนึ่งการประชุมวิชาการฯ จะมีการนำเสนอข้อมูลที่ครอบคลุมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาในหลากหลายด้าน อาทิ ประสบการณ์ด้านการใช้ ICT ในสถานศึกษา, ประสบการณ์แห่งความสำเร็จและการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการใช้ ICT นอกจากนี้จะมีการแสดงนิทรรศการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศในการประชุมวิชาการดังกล่าว

วัตถุประสงค์ทั่วไป

1. Advocacy and Momentum building:  เพื่อสร้างความเข้าใจ ความมุ่งมั่น และโมเมนตัมในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

2. Movement of the Strategic Plan:  เพื่อพัฒนากลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ

3. Knowledge Generation, Management, and sharing: เพื่อสนับสนุนการสร้างและจัดการความรู้ในด้านการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ

4. Capacity Building and Networking: สร้างขีดความสามารถและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสาขาวิชาชีพและระหว่างสถาบันทั้งในระดับชาติและนานาชาติในการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ

วัตถุประสงค์เฉพาะ

  1. เพื่อศึกษาประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาในปัจจุบัน
  2. เพื่อจัดทำข้อมูลด้านวิธีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ
  3. เพื่อกระตุ้นให้เกิดประสิทธิภาพด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ
  4. เพื่อเผยแพร่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
  5. เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาในด้านต่างๆ อาทิ การจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา ข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาการศึกษา เป็นต้น

ผลลัพธ์ที่คาดหวัง

  1. ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับข้อมูลด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาที่เป็นปัจจุบันและก้าวทันต่อความก้าวหน้า
  2. ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถที่จะนำวิธีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาไปปรับใช้ในองค์กรของตนเองได้
  3. ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับปรุงพัฒนาการศึกษา ทั้งทางด้านการบริหารสถาบันและการเรียนการสอนด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
  4. ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้

รูปแบบการดำเนินงาน

1. จัดประชุมวิชาการระดับชาติ (National Forum) ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างปี พ.ศ. 2557 – พ.ศ. 2561 รวม 5 ครั้ง โดยเป็นกิจกรรมวิชาการและการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ไปพร้อมกัน ได้แก่ การบรรยายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ การนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมการเรียนการสอน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ ในประเด็นสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ

2. ผู้เข้าร่วมประชุม ประมาณ 300 – 500 คน มาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันการศึกษา สภาวิชาชีพ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรอิสระด้านสุขภาพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคประชาสังคม ผู้ใช้บริการสุขภาพ ภาคเอกชน และอื่นๆ

3.หัวข้อประเด็น (Theme) ในการประชุมแต่ละปี กำหนดโดยความสอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์และวัตถุประสงค์ของการประชุม ดังนี้

  • พ.ศ. 2557 “ปฏิรูปสถาบัน สู่สังคมการเรียนรู้ เพื่อสุขภาวะ” “Institutional Reform towards Learning Society for Health”
  • พ.ศ. 2558 “ปฏิรูปการเรียนรู้ สู่สมรรถนะและหัวใจ” “Instructional Reform for Competent and Humanized Health Professionals”
  • พ.ศ. 2559 “เรียนร่วมวิชาชีพ สู่ทีมสุขภาพไทย IPE towards Thai Health Team
  • พ.ศ. 2560 “เทคโนโลยีสารสนเทศ เสริมสร้างวิชาชีพสุขภาพ” (ICT to empower health professional education )
  • พ.ศ. 2561 “การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในชุมชนสู่สุขภาวะ” (Community Engagement Health Professional Education)

งบประมาณและแหล่งงบประมาณ

1. การจัดประชุมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ผ่านโครงการการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่เหมาะสมในศตวรรษที่ 21

2. การเดินทางเเละที่พักสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมคนไทย

  • ผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุม สนับสนุนประมาณจากต้นสังกัด และค่าลงทะเบียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามรายละเอียดในข้อ 1.
  • วิทยากร สนับสนุนโดยงบประมาณตามรายละเอียดในข้อ 1.
  • ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมสมัครลงทะเบียนและชำระค่าลงทะเบียนทาง website

3. การเดินทางและที่พักสำหรับวิทยากรต่างประเทศ ขอรับการสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ โดยในการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 1 พ.ศ 2557 สนับสนุนจาก China Medical Board และครั้งที่ 2 พ.ศ 2558 สนับสนุนจาก องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 3 สนับสนุนจากสำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย

———————————————-