เว็บไซต์ hfocus.org เสนอข่าวคณะแพทย์ ม.นเรศวร เดินหน้าปฏิรูปการสอน เปิดตัวหลักสูตรผลิตแพทย์และบุคลากรสุขภาพแนวใหม่ ดึงนวัตกรรมเรียนรู้สหวิชาชีพ “IPE” เสริมหลักสูตร “แพทย์ 7 ดาว” ช่วยลดความขัดแย้งระหว่างวิชาชีพระหว่างปฏิบัติงาน คาดเริ่มใช้จริงในปีการศึกษา 2562
รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ปฏิรูปการเรียนการสอนของทางคณะให้เป็นไปในแบบ Transformative Learning ที่นำการเรียนรู้แนวใหม่มาสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านทัศนคติรวมถึงวิธีลงมือปฏิบัติ ให้กับว่าที่บัณฑิตด้านสุขภาพและอาจารย์ผู้สอน โดยล่าสุดได้นำนวัตกรรมการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ หรือ IPE (Interprofessional Education : IPE) ซึ่งเป็นหนึ่งในการเรียนรู้แบบ Transformative Learning มาเสริมหลักสูตรผลิต “แพทย์ 7 ดาว” (7Star Doctor) ของมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ
1.Care Provider การแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยการประยุกต์วิทยาศาสตร์การแพทย์แบบทักษะองค์รวม มาสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วย
2.Decision Maker ตัดสินใจอย่างเป็นระบบ และเก็บเป็น ข้อมูล
3.Community Leader เป็นผู้จัดการและผู้นำชุมชนด้านสุขภาพ และทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่นในการแก้ไขปัญหาสุขภาพได้
4.Life Long Learner แสวงหาความรู้ใหม่และศึกษาด้วยตนเองตลอดชีวิต
5.Manager บริหารจัดการตนเองและกิจกรรมหน้าที่ของตนเองด้วยความรับผิดชอบ
6.Communicator ใช้สื่อภาพ สัญลักษณ์ และทักษะทางภาษา เพื่อสื่อสารอย่างได้ผล
7.Humanistic doctor มีเจตคติที่ดีและปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักเวชจริยศาสตร์และกฎหมาย และสามารถดำรงตนในฐานะแพทย์และสมาชิกในสังคมได้อย่างเหมาะสม
ซึ่งพัฒนามาจากหลักสูตรแพทย์ 5 ดาว (5 Star Doctor) ของ WHO เพราะเล็งเห็นว่ามีหลักคิดที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะในด้านการสร้างภาวะผู้นำในการปฏิบัติงานร่วมกัน การสร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างวิชาชีพ รวมถึงการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นกลไลช่วยผลิตบัณฑิตแพทย์และบัณฑิตด้านสุขภาพ ให้มีคุณลักษณะและสมรรถนะสอดรับกับความต้องการของทาง สธ. และสังคมไทยในอนาคต
รศ.นพ.ศิริเกษม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนรูปแบบการศึกษาแบบสหวิชาชีพ หรือ IPE เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านสุขภาพและสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น พยาบาล เภสัชศาสตร์ สหเวชศาสตร์ ฯลฯ เข้าเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน เพื่อลดปัญหาความไม่เข้าใจระหว่างวิชาชีพเมื่อต้องปฏิบัติงานจริง และเชื่อมโยงการทำงานด้านสุขภาพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อสังคมไทยที่ดียิ่งขึ้น ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงหลักสูตรและทดลองใช้ เบื้องต้นได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และคาดว่าจะเปิดใช้จริงในปี 2562
“บัณฑิตแพทย์ที่จบไป หลักๆ มีความสามารถในการตรวจรักษา แต่สื่อสารไม่ค่อยเป็น ทำงานร่วมกับคนอื่นไม่ค่อยได้ ซึ่งหากคนที่มาเป็นหมอไม่สามารถสื่อสารกับคนไข้ได้ ไม่สามารถทำงานร่วมกับทีมเวิร์กได้ ทุกอย่างก็จบ ซึ่งหลักการเรียนรู้แบบ IPE จะเข้ามาช่วยเสริมในจุดนี้ ที่สำคัญยังส่งผลดีต่อตัวผู้ป่วย ที่บุคลากรด้านสุขภาพจะใช้ความรู้ความสามารถที่มีทำงานร่วมกันเพื่อการรักษาอย่างดีที่สุด ต่างจากเดิมที่เป็นคำสั่งแบบ Top-Down แพทย์สั่งมาอย่างไรก็ต้องทำไปแบบนั้น ทั้งที่รู้ว่าผิดก็มี และเกิดเป็นกรณีฟ้องร้องเป็นคดีความระหว่างวิชาชีพ หรือฟ้องร้องระหว่างบุคลากรสุขภาพกับคนไข้ ซึ่งเคสดังกล่าวมีจำนวนมากในแต่ละปี และพบว่ามีอัตราเพิ่มมากขึ้นทุกปี” รศ.นพ.ศิริเกษม ระบุ
ขณะที่ นพ.อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการสร้างกลไกระบบเครือข่ายระบบสุขภาพระดับอำเภอ (DHS) กล่าวว่า การสร้างเครือข่าย DHS ให้กลายเป็นระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนของบุคคลากรทางด้านสาธารณสุข จากการสอนแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพด้านสุขภาพในแบบแยกกันเรียน มาเป็นการเรียนรู้ร่วมกันที่เรียกว่าโครงการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ หรือ IPE โดยขณะนี้ ทางโรงพยาบาลอุบลรัตน์ได้เริ่มทำโครงการ IPE แล้ว โดยเป็นการร่วมมือกับโรงพยาบาลขอนแก่นและกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งแพทย์และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาร่วมเรียนรู้เรื่องดังกล่าว ไปพร้อมกับกลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพ อย่าง พยาบาล เภสัชกร รวมถึงนักศึกษาแพทย์ ซึ่งพื้นที่การเรียนรู้มีทั้งในโรงพยาบาลและลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวบ้าน ซึ่งนอกจากโรงพยาบาลอุบลรัตน์ที่เพิ่งเริ่มเดินหน้าโครงการ ยังมีโรงพยาบาลอื่นๆ นำแนวคิด IPE ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานด้วยเช่นกัน เช่น โรงพยาบาลน้ำพอง จ.ขอนแก่น โรงพยาบาลละงู จ.สตูล และโรงพยาบาลสารภี จ.เชียงใหม่
“ถ้าตอนเรียนกลับแยกกันโดยสิ้นเชิงในแบบต่างคนต่างเรียนต่างคนต่างสอน จบแล้วก็หวังว่าจะมาทำงานด้วยกันได้ แต่เอาเข้าจริงกลับเป็นเสมือนสนามรบ เพราะต่างคนต่างทำงานของตัวเองไม่เข้าใจบริบทของกันและกัน และกลายเป็นการรักษาแบบลองถูกลองผิด ซึ่งสุดท้ายผลเสียก็ตกอยู่ที่คนไข้ ดังนั้น การเรียนรู้แบบ IPE ตั้งแต่ตอนเรียน จะทำให้การทำงานร่วมกันของบุคลากรด้านสุขภาพมีความสมูท เพราะในชีวิตจริงแพทย์กับพยาบาลทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องมีสหวิชาชีพหลายๆ ฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือกัน การเรียนรู้กันและกันว่าหน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร และจะทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ไม่ซับซ้อน เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคนไข้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าว
ด้าน ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ผู้จัดการโครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 กล่าวถึงความคืบหน้าในการใช้แนวทางการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ หรือ IPE ช่วยผลักดันให้เกิดการปฏิรูปบุคลากรด้านสุขภาพภายในประเทศตามพันธกิจขององค์กรว่า ทาง ศสช.ใช้เวลาประมาณ 2 ปี เขียนบทเรียนการเรียนรู้แบบ IPE สำหรับแต่ละวิชาชีพไว้เป็นแนวทางเสร็จแล้วในหลายเรื่อง ซึ่งองค์กรที่สนใจโดยเฉพาะสถาบันการศึกษาสามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ทันที โดยบทเรียน IPE ที่ ศสช.จัดทำขึ้นนั้น มาจากการระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงานที่ศึกษาลงลึกในแต่ละวิชาชีพ ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติจริงในองค์กรกลุ่มเป้าหมาย และนำผลที่ได้มาปรับปรุงนำเสนอไว้เป็นแนวทางกลาง ขณะนี้ เหลือเพียงวิธีประเมินผลที่กำลังดำเนินการจัดทำ
“จริงๆ การเรียนรู้แบบสหวิชาชีพไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพราะเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2553-2554 ในชื่อที่แตกต่างกันออกไป แต่ความหมายก็คือการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันตั้งแต่สองวิชาชีพ เรียนได้ในทุกสถานการณ์ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต “Learn as if you will live forever” เพื่อให้เกิด
1.การเรียนรู้ว่าแต่ละวิชาชีพมีบทบาท ความรับผิดชอบอะไร
2.รู้จักภาวะความเป็นผู้นำ
3. การทำงานเป็นทีมอย่างเข้าใจกันและกัน
และ 4.การเรียนสอนสะท้อนย้อนคิด
เพียงแต่ตอนนี้หลายฝ่ายให้ความสนใจมากขึ้น เพราะองค์กรด้านสุขภาพหลายแห่งปฏิบัติแล้วเห็นประสิทธิผล อย่างไรก็ตาม การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบสหวิชาขีพไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคณะและสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องรวมถึงอาจารย์ผู้สอน และยังต้องอาศัยเวลาในการเปลี่ยนผ่านที่จะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงไม่น้อยกว่าครึ่งศตวรรษ และในอนาคตตั้งเป้าให้คณะและสาขาวิชาชีพอื่นๆ นอกจากด้านสุขภาพ เข้าร่วมเรียนในลักษณะนี้ด้วย เพราะคนหนึ่งคนหนึ่งที่จะมีสุขภาวะที่ดีนั้น ไม่ได้หยุดแค่มิติของสุขภาพอีกต่อไป ต้องมีมิติทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และจิตใจรวมถึงคนรอบข้างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย” ศ.พญ.วณิชา กล่าว