ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว แสดงปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสุขภาพและการสาธารณสุขไทย” ณ โรงแรมตักสิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562
ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ ได้รับเชิญไปแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสุขภาพและการสาธารณสุขไทย” ในการประชุมวิชาการ 20 ปี เภสัชศาสตร์ มหาสารคาม : ความก้าวหน้าทางวิชาการและนวัตกรรมเพื่อชุมชน เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมตักสิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
คณะเภสัชศาสตร์ได้จัดประชุมวิชาการภายใต้แนวคิด “20 ปี เภสัชศาสตร์ มหาสารคาม: ความก้าวหน้าทางวิชาการและนวัตกรรมเพื่อชุมชน (20 Years MSU Pharmacy: Expertise and Innovation for the Community)” ระหว่างวันที่ 15 – 16กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ณ โรงแรมตักสิลา อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 20 ปี แห่งการสถาปนา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อบริการวิชาการแก่เภสัชกร ศิษย์เก่าและผู้ที่สนใจได้ทราบถึงสถานการณ์และทิศทางการพัฒนาของระบบยาและ สุขภาพ เพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทางานและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อสุขภาพและคุณภาพ ชีวิตที่ดีของประชาชนในชุมชน โดยได้เชิญ ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว ไปแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสุขภาพและการสาธารณสุขไทย” เพื่อฉายภาพการพัฒนาบุคลากรสุขภาพและการสาธารณสุขไทยทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และเพื่อพัฒนาบุคลากรสุขภาพในปัจจุบันให้เตรียมการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องธรรมชาติ สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเตรียมความพร้อมของบุคลากรสุขภาพในการดูแลสุขภาพของสังคมสูงวัย (ageing society) โรคสมัยใหม่เกี่ยวกับข้องกับวิถีชีวิตและรูปแบบการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้น โรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases, NCDs) โรคเรื้อรัง และพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพมากขึ้น โดยดำเนินนโยบายประเทศด้านแผนพัฒนาบริการสุขภาพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (rational drug use, RDU) และบุคลากรสุขภาพจะต้องปรับตัวให้ทันต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด (disruptive technology) และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และวิวัฒนาการใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ
หนึ่งในความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการเตรียมความพร้อมของบุคลากรสุขภาพ คือการจัดการเรียนการสอนแบบสหวิชาชีพ (Interprofessional Education) โดยได้จัดการเรียนการสอนร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสัตวแพทย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์ และคณะวิทยาการสารสนเทศ (นิเทศศาสตร์) เพื่อให้นิสิตจากคณะต่างๆ ได้เกิดทักษะทำงานร่วมกันเป็นทีม และการดูแลผู้ป่วยที่บ้านอย่างเป็นองค์รวมด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ โดยชุมชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน ประเมินนิสิต และได้นวัตกรรมที่สร้างสรรค์จากนิสิตเอาไปใช้ในชุมชน
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังได้นำเสนอผลงานการจัดการเรียนการสอนแบบสหวิชาชีพ (Interprofessional Education) สู่เวทีระดับชาติและสากล ดังนี้
- An Initiative Model for Health Professional Education
ตัวอย่างโมเดล ในการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (พ.ย. 2559)
ตัวอย่างโมเดล ในการประชุม US-Thai Pharmacy Education Consortium (Jun 2016)
ตัวอย่างโมเดล ในการประชุมวิชาการนานาชาติ Optimizing Healthcare Quality (Jun 2016)
- Academic Exhibition — IPE@MSU
จัดนิทรรศการ ในการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ (พ.ย. 2560)
- Education Support จาก MedResNet และ โครงการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ผ่านมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ
นับได้ว่าเป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพในระดับสถาบันโดยความร่วมมือกับชุมชนที่จะสามารถขยายผลการดำเนินการต่อไปและสถาบันอื่นๆ ที่สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและนโยบายแผนพัฒนาบริการสุขภาพ (service plan) ที่บูรณาการทรัพยากรในการบริการสุขภาพเฉพาะด้านสำหรับการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ร่วมกัน และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (พ.ศ. 2560 – 2579)