กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับสถาบันผลิตแพทย์และแพทยสภา พัฒนาระบบการผลิตและกระจายแพทย์เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของสังคมและชุมชนในประเทศไทย
15 กรกฎาคม 2019

🏥🚑🏥 กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักปลัดกระทรวง และสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (Collaborating Project to Increase Production of Rural Doctor : CPIRD) ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เป็นสถาบันผลิตแพทย์ และแพทยสภา พัฒนาการผลิตและการกระจายแพทย์ในประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ชนบทและทุรกันดารห่างไกล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างสะดวก ทั่วถึง และเท่าเทียม 🏥🚑🏥

💊🏘💉 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ชวศักดิ์ กนกกันฑพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ได้ปรึกษาหารือร่วมกับ ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ กรรมการแพทยสภา และคณบดีตัวแทนสถาบันผลิตแพทย์ ประกอบด้วย รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้ที่เกี่ยวข้องอีกหลายท่าน ในประเด็นการปรับระบบการผลิตแพทย์ชนบทในโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ชนบทและทุรกันดารห่างไกล โดยคำนึงถึงคุณค่าในตนเองและความสุขในการทำงานของแพทย์ เพื่อให้เกิด ประชาชนสุขภาพดี ภาคีมีส่วนร่วม กำลังคนมีความสุข และระบบสุขภาพยั่งยืน โดยการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทจะต้องทำร่วมกับการส่งเสริมการปรับหลักสูตร การคัดเลือกคนเข้าเรียนแพทย์ การจัดระบบการทำงานของแพทย์ในพื้นที่ และจัดการระบบสุขภาพ ในด้านต่างๆ ดังนี้
1) ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับเขตสุขภาพและแหล่งฝึก (รพช. รพ.สต.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข
2) การคัดเลือกบุคคลเข้าเป็น นิสิต/นักศึกษาแพทย์โดยพื้นที่มีส่วนร่วมและมีกระบวนการรับเข้าที่เปิดโอกาสให้กับคนในพื้นที่ ที่เป็นบุคลากรที่มีผลการปฏิบัติงานดี มีเจตคติที่ดี มีโอกาสเข้าเรียนแพทย์มากขึ้น และ
3) การทำวิจัยเพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการธำรงอยู่ของแพทย์ในพื้นที่ขาดแคลน 💊🏘💉

🔶🎉🔶 ขณะนี้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ดำเนินการปรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โดยเน้นในประเด็นต่อไปนี้
1) หลักสูตรที่มีการจัดการเรียนการสอน Health System Science อยู่ในหลักสูตรอย่างชัดเจน
2) พัฒนาให้เป็นการเรียนรูปแบบสหวิชาชีพ (Inter-Professional Education : IPE) ในพื้นที่ ทั้งโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสังคม ชุมชน โดยบูรณาการทุกวิชาชีพ
3) เน้นการเรียนรู้โดยชุมชนมีส่วนร่วม เริ่มตั้งแต่การสร้างหลักสูตร การเรียน การประเมินผล และการทำงาน หรือทำวิจัยร่วมกับชุมชน
4) มุ่งทำหลักสูตรให้เกิดการสร้าง System-Oriented Leader ทั้งในระบบสุขภาพและระบบการศึกษา
5) ร่วมกันพัฒนาอาจารย์ บุคลากรในชุมชนและสถาบันที่เกี่ยวข้อง ให้มีความรู้ความเข้าใจ เรื่องบทบาทของแพทย์ในระบบสุขภาพ
6) จัดสรรทรัพยากรเพื่อทำให้แหล่งฝึกมีคุณภาพ รองรับการเรียนการสอนอย่างแท้จริง
7) ออกแบบให้ได้แพทย์ CPIRD ที่ดีในอนาคต เพื่อไปทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพดีขึ้น เป็นแพทย์ใน รพช. ที่ทำงานได้อย่างมีความสุข และ รพช. สามารถพัฒนาตนเองได้ 🔶🎉🔶

🎗🔷🎗 ปัจจุบันหลักสูตรดังกล่าวได้รับการรับรองด้วยมาตรฐานระดับโลกคือ WFME (World Federation for Medical Education) จากแพทยสภาแล้วทั้งสองแห่ง ดังนั้นตั้งแต่ปีการศึกษา พ.ศ. 2562 มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่งได้เริ่มดำเนินการ เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ตามแนวทาง “การศึกษาเพื่อบุคลากรด้านสุขภาพที่ทำงานกับชุมชน” (Community-Engaged Health Professional Education : CEHPE ) ซึ่งจะได้แพทย์ที่มีคุณภาพ เข้าใจระบบสุขภาพ ชุมชน สังคม ทำงานอย่างมีความสุข โดยเชื่อมโยงกับชุมชนและให้ชุมชนมีส่วนร่วม🎗🔷🎗

👼🏻👼🏻👼🏻 “ในอนาคตแพทย์ที่จบจากหลักสูตรดังกล่าวจะสามารถอยู่ในพื้นที่ขาดแคลนแพทย์ได้ยั่งยืน ยาวนาน และสร้างเสริมให้เกิดชุมชนสุขภาวะได้อย่างแน่นอน”👼🏻👼🏻👼🏻

💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠💠

ขอขอบพระคุณข้อมูลโดย

รศ.นพ.ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

READS :1,350 views