ท่าคันโทโมเดล พลังชุมชนเคลื่อนกายภาพบำบัดเชิงรุก

ใครจะคิดว่า โรงพยาบาลประจำอำเภอเล็กๆ ขนาด 10 เตียง เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วแห่งนี้ ซึ่งสาธารณูปโภคและการคมนาคมไม่เอื้ออำนวย ประชาชนเข้าถึงลำบาก จะกลายมาเป็นโรงพยาบาลต้นแบบการทำ “กายภาพบำบัดเชิงรุก” เพื่อดูแลสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยกายภาพบำบัดในพื้นที่กว่า 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ ในปัจจุบัน

“ท่าคันโทโมเดล” ที่มีหัวใจสำคัญคือ “ศูนย์โฮมสุข” การทำงานกายภาพบำบัดเชิงรุก ที่เกิดจาก “พลังชุมชน” อย่างแท้จริง

กายภาพบำบัดเชิงรุกนี้ ยังเชื่อมโยงไปถึงการสร้างบุคลากรนักกายภาพบำบัดเชิงรุก ที่มีจุดเริ่มต้นเล็กๆ จาก คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ปฏิวัติหลักสูตรการสอน โดยใส่ “หัวใจความเป็นมนุษย์” การเรียนแบบ “จิตตปัญญาศึกษา” และ “Interprofesional Education (IPE) หรือ สหวิชาชีพ” ที่บูรณาการทุกวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการสาธารณสุข เข้ากับปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในชุมชน จนสามารถสร้างเมล็ดพันธุ์ “นักกายภาพบำบัดรุ่นใหม่” ที่เห็นความสำคัญของการทำงานด้านสาธารณสุขเชิงรุก